วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประเทศไทยให้การรับรองรัฐบาลในอินโดจีนที่เป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลฝรั่งเศส



ในปลายปี ค.ศ. 1949 ความสำคัญของประเทศไทยและอินโดจีนของฝรั่งเศสต่อสถานะของประเทศสหราชอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเด่นชัดมากขึ้นทุกวันเมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์จีนได้เข้ามาใกล้พรมแดนของอินโดจีนซึ่งกองโจรคอมมิวนิสต์เวียดนามกำลังปฏิบัติการอยู่อย่างเข้มแข็ง

ความสำคัญในบทบาทของประเทศไทยในฐานะเป็นแนวป้องกันส่วนหน้าของมลายาได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษ

ข้างสหรัฐอเมริกาก็มีความวิตกกังวลกับชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนมากจนถึงกับได้เปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ต้องทำอะไรที่มีอยู่ก่อนต่อประเทศต่างๆในเอเชียมาเป็นนโยบายป้องกันคอมมิวนิสต์เขมือบเอเชียเข้าไปอยู่ในเขตอำนาจที่กว้างใหญ่ของตน

ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกามีความเชื่อว่าสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์มีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยสาธารณรัฐเวียดนามของโฮจิมินห์ในอินโดจีนที่ได้รับการสนับสนุนสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตทั้งทางด้านความช่วยเหลือในด้านวัตถุและในด้านกำลังทหาร

สหรัฐอเมริกาอีกเหมือนกันเห็นว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์มีความสำคัญต่อนโยบายสกัดกั้นจีนคอมมิวนิสต์ ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงได้เลือกกรุงเทพฯเป็นสถานที่ประชุมของบรรดาหัวหน้าคณะทูตของสหรัฐอเมริกาในแถบตะวันออกไกลซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950
  
ที่ประชุมของคณะทูตได้พิจารณาถึงสถานการณ์ในประเทศตะวันออกไกลทั้งหลายเป็นรายประเทศและสถาการณ์ในระดับภูมิภาคโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในห้วงเวลาภายหลังจากคอมมิวนิสต์มีชัยนะในประเทศจีน

ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ได้แสดงความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศไทยนับแต่สงครามแปซิฟิกยุติลง ผลประโยชน์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตในประเทศไทยได้สร้างความวิตกกังวลให้ทั้งแก่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักร 

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 สถานอัครราชทูตโซเวียตประจำประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่มาประจำอยู่จำนวนรวมกันมากกว่าพลเมืองของประเทศสหภาพโซเวียตที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเสียอีก

นอกจากนั้นแล้วสถานอัครราชทูตโซเวียตก็ยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่วารสารข่าวชื่อ Bulletin of the Press Service การเคลื่อนไหวของสหภาพโซเวียตเช่นนี้ได้สร้างความวิตกกังวลทั้งในกรุงวอชิงตันและในกรุงลอนดอนว่า ศูนย์บัญชาการกลางเพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มาตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ

 มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่าชาวรัสเซ๊ยได้ทำการติดต่อกับแรงงานชาวจีนที่ทำงานรับจ้างอยู่ในกรุงเทพฯ และว่าเจ้าหน้าที่รัสเซียเป็นจำนวนมากในสถานอัครราชทูตสหภาพโซเวียตได้หายตัวไปทำงานใต้ดินอยู่ทั่วประเทศไทย

ในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น ก็มีรายงานว่าชาวรัสเซียได้พยายามซื้อดีบุกและยางพาราในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศสหรัฐอเมริกา

กระแสของ”สงครามเย็น “(Cold War)ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พุ่งแรงขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1650 เมื่อสหภาพโซเวียตได้ให้การรับรองแก่รัฐบาลเวียดนามของโฮจิมินห์โดยให้เหตุผลว่าเป็นรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของเวียดนาม

โฮจิมินห์ได้เรียกร้องให้สหภาพโซเวียตรับรองรัฐบาลของตนโดยส่งบันทึกผ่านทางผู้แทนของเวียดนามในกรุงเทพฯถึงอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

การตัดสินใจของโซเวียตซึ่งตามมาด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตและแลกเปลี่ยนคณะทูตกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้การรับรองแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม

ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา คือ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้การรับรองรับรองและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลลาว และรัฐบาลกัมพูชาซึ่งเป็นหุ่นเชิดของประเทศฝรั่งเศส  
ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอมาทางรัฐบาลของจอมพล ป.ให้รัฐบาลไทยรับรองรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลลาว และรัฐบาลกัมพูชาที่เป็นหุ่นเชิดของประเทศฝรั่งเศส

รัฐบาลของจอมพล ป.มีความเห็นในหมู่ผู้นำไม่ตรงกันจึงต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์ก่อนที่จะตัดสินใจในครั้งสุดท้าย

นับตั้งแรกแล้ว จอมพล ป.โดยการสนับสนุนของทหารทั้ง 3 เหล่าทัพมีความเห็นว่าเป็นเรื่องรีบด่วนและจำเป็นที่ประเทศอย่างยิ่งที่ประไทยจะต้องกระทำตามประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่นโยบายนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีอื่นอีก 4 คนซึ่งต้องการวางนโยบายแบบคอยดูไปก่อน

ในการอภิปรายกันว่าควรจะให้การรับรองในทันทีแก่ 3 รัฐบาลในอินโดจีนหรือไม่นั้น จอมพล ป. ได้เปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยกับระบอบคอมมิวนิสต์ว่าเหมือนกับโรงภาพยนตร์ 2 โรง และถือว่าการรับรองในทันทีเป็นการช่วยให้ประเทศไทยได้เข้าไปสู่โรงภาพยนตร์ ทั้งนี้โดยจอมพล ป.ได้ใช้คำพูดว่า ในขณะที่ประเทศไทยมีที่นั่งในโรงภาพยนตร์ประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังยืนอยู่ข้างนอกโรงภาพยนตร์ ในขณะที่ภาพยนตร์ได้เริ่มฉายอยู่ข้างในโรงภาพยนตร์นั้นแล้ว ยิ่งประเทศไทยยังอยู่ข้างนอกโรงภาพยนตร์อยู่นานต่อไป ประเทศไทยก็ยิ่งจะมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์น้อยลงไปเท่านั้น

จอมพล ป.มีความเห็นว่าประเทศไทยต้องแสดงออกมาว่ามีความยึดมั่นที่จะอยู่ในค่ายของประเทศที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์และจะต้องยุตินโยบายเป็นกลางในแบบนั่งอยู่บนรั้วเพื่อรอคอยดูเหตุการณ์เสีย

ก่อนที่จอมพล ป.และคณะนายทหารจะมีทีท่าเช่นนี้ออกมาก็ด้วยได้พิจารณาถึงปัจจัยทางด้านการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านทหารดังนี้:

1.ชัยชนะขอคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนได้สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย ทั้งนี้โดยมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าได้มีภัยคุกคามต่อประเทศไทยทั้งจากภายในประเทศไทยเอง
กล่าวคือ การมีชัยชนะของคอมมิวนิสต์จีนในประเทศจีนจะส่งผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อยชาวจีนซึ่งมีจำนวนมากมายในประเทศไทย จะมีการแทรกซึมเข้ามาของคอมมิวนิสต์และมีกิจกรรมของสายลับเข้ามาอยู่ในหมู่ของคนจีนเหล่านี้

นอกจากนั้นแล้วในทางด้านการคุกคามจากภายนอกประเทศนั้น เมื่อคอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะในประเทศจีนแล้วประเทศจีนและประเทศไทยก็จะไม่ได้อญุ่ห่างไกลกันมากนัก และประเทศจีนก็จะคุกคามประเทศไทยได้โยไม่ยาก 

มีการประเมินว่าหนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมดของประชากรของประเทศไทย เป็นคนไทยเชื้อสายจีน หรือเป็นพวกจีนผสมไทย พวกคนจีนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยแต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความสำคัญมาก

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นพวกคนจีนมีความสำคัญมากทั้งนี้เพราะพวกคนจีนนอกจากจะผูกขาดทางด้านการค้าและด้านอุตสาหกรรมแล้วยังเป็นพวกที่หนักเอาเบาสู้สามารถทำงานอะไรก็ได้ที่พวกคนไทยไม่ต้องการจะทำ
หากไม่มีคนจีนเสียแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะล่มสลายก็ได้ ชาวจีนยังมีความสำคัญทางด้านการเมืองด้วยเพราะพวกคนจีนเป็นพวกรักพวกพ้องและมีการจัดตั้งที่ดี

ภายหลังจากสงครามแปซิฟิกยุติมีการเจริญเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ของชาวจีนในประเทศไทย มีสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศไทยซึ่งความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน

เมื่อปี ค.ศ. 1949 มีการประมาณการณ์ว่าชาวจีนที่พำนักอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้คอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะในประเทศจีน และในประเทศไทย

เพราะหากคอมมิวนิสต์มีชัยชนะก็จะช่วยให้คนจีนที่พำนักอยู่ในประเทศไทยมีสถานะที่เข้มแข็งขึ้น  เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเจียงไคเช็คของประเทศจีนไม่ได้ช่วยป้องกันมาตรการต่อต้านชาวจีนที่รัฐบาลไทยนำมาใช้กับคนจีน

ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลไทยจึงไม่ชอบคนจีนและเห็นว่าเป็นพวกที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศไทย โดยเฉพาอย่างยิ่งในช่วงที่คอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในประเทศจีน 

ภัยคุกคามจากประเทศจีนจากภายนอกประเทศ ก็คือ กองทัพจีนจะยาตราทัพจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางด้านแม่น้ำโขงเข้าสู่ประเทศไทย

และเมื่อกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 1948 สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่ากองทัพจีนคอมมิวนิสต์ได้ข้ามพรมแดนทางด้านอินโดจีนและทางพรมแดนทางพม่าเข้ามาแล้ว

ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากกับรายงานข่าวเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการประกาศออกอากาศทางวิทยุของวิทยุปักกิ่งที่ว่า กองทัพคอมมิวนิสต์จีนจะได้เข้ามาช่วยเหลือในการปลดปล่อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1949 เป็นที่เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะได้รับบทเรียนจากจีนคอมมิวนิสต์โดยจีนจะบุกเข้ามาทางภาคเหนือ และคอมมิวนิสต์จีนได้ติดต่อกับกองกำลังของพม่าและของเวียดนามแล้วและจะข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางอินโดจีน

ความกลัวภัยคุกคามจากจีนทั้งจากภายในประเทศและจากภายนอกประเทศได้แสดงออกมาจากคำพูดของหลวงสุรณรงค์ ผู้อำนายการข่าวกรองทางทหารของไทยที่ได้ติดต่อกับนักการทูตอังกฤษประจำสถานเอกอัครราชทูตของสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยว่า “คุณต้องไม่ยอมให้พวกเราตายเหมือนคราวที่แล้ว(ในสงครามแปซิฟิก) คุณกับชาวอเมริกันจะช่วยเหลืออะไรพวกเราได้บ้าง?.

จอมพล ป.และคณะนายทหารมีความหวังว่าหากประเทศไทยต้องเผชิญภัยคุกคามจากประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ทางประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศสหรัฐอเมริกาจะมาให้ความช่วยเหลือ

เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยยอมให้การรับรองแก่รัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลลาว และรัฐบาลกัมพูชาที่เป็นหุ่นเชิดของฝรั่งเศสตามอย่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงมีความสำคัญทางการเมือง

ประการที่ 2 ที่จอมพล ป.ต้องการเข้าร่วมกับค่ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์นั้น ก็เพราะมีความกลัวพวกเสรีไทย โดยในปี ค.ศ.1949 โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ ซึ่งเกิดกบฏวังหลวงและการพ่ายแพ้ของรัฐบาลจีนคณะชาติที่นานกิงในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา  ได้มีการการติดต่อของคนไทยกับพวกคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ในข่าวเชิงลึกบอกว่านายปรีดี พนมยงค์และสมาชิกเสรีไทยผู้ใกล้ชิดหลังจากพ่ายแพ้ในกบฏวังหลวงแล้วได้ไปขอความช่วยเหลือจากฝ่ายคอมมิวนิสต์จีน นอกเหนือจากที่จะได้รับความช่วยเหลือจากนักชาตินิยมชาวอินโดจีน

จอมพล ป.ได้ตระหนักถึงว่าเมื่อคณะเสรีไทยได้เลือกประเทศจีนคอมมิวนิสต์เป็นผู้ให้การสนับสนุนจากภายนอกฝ่ายตนก็ควรพึ่งประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่พึ่งจากภายนอกบ้าง

ประการที่ 3 การที่ประเทศไทยให้การรับรองประเทศเวียดนาม ประเทศลาว และประเทศกัมพูชาที่เป็นหุ่นเชิดของประเทศฝรั่งเศสนั้น ก็เพราะมีแรงจูงใจจากประสบการณ์ของผู้นำไทยในช่วงก่องก่อนเกิดสงครามแปซิฟิก 

กล่าวคือ ว่าโดยทั่วไปนั้น ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยถือว่าอินโดจีนเป็นแนวป้องกันส่วนหน้าของประเทศไทย จอมพล ป.คือผู้กำหนดนโยบายคนเดิมกับคนที่ได้เคยกำหนดชะชากรรมของประเทศไทยในสงครามแปซิฟิก

และคราวนี้เขาก็มาเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศในสงครามเย็น  เขายังจดจำได้เป็นอย่างดีว่า ทหารญี่ปุ่นเข้าไปอยู่ในประเทศจีนก่อน ต่อจากนั้นได้เดินทัพเข้ามาในอินโดจีนและได้กรีธาทัพบุกเข้าสู่ประเทศไทยในที่สุด

จอมพล ป.มีความเชื่อว่า คราวนี้ก็คงเหมือนคราวก่อน คือชะตากรรมของอินโดจีนจะมาก่อนประเทศไทยและอินโดจีนจะปลอดภัยได้ก็โดยความพยายามร่วมมือกันของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศฝรั่งเศส

จอมพล ป.ได้คาดการณ์ว่า ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว และประเทศกัมพูชาที่เป็นหุ่นเชิดของฝรั่งเศสจะทำหน้าที่เป็นประเทศกันชนระหว่างประเทศไทยกับพวกคอมมิวนิสต์ และทั้ง 3 ประเทศในอินโดจีนนี้จะช่วยปกป้องเอกราชของประเทศไทยเอาไว้ได้

ประการที่ 4 จอมพล ป.สนับสนุนให้รับรององ 3 รัฐบาลหุ่นเชิดของฝรั่งเศสในทันทีนั้นเพราะมีความเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะอำนวยประโยชน์ให้ประเทศไทยได้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนั้นได้มีการถกปัญหาเกี่ยวกับตะวันออกไกลอยู่ในกรุงวอชิงตัน และผลประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าร่วมกับค่ายที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์โดยการนำของสหรัฐอเมริกาได้ถูกนำไปคำนวณโดยจอม พล ป.

กล่าวคือ นอกจากจะได้รับคำมั่นสัญญาจากสหรัฐอเมริกาว่าประเทศไทยจะได้คืนทองคำมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ที่ถูกยึดไว้ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว คณะนายทหารไทยยังมีความสนใจในโครงการ 4 อย่าง(Four Points)ของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งโครงการนี้ได้นำเสนอโดยประธานาธิบดีทรูแมนในวันเข้ารับตำแหน่งในปี ค.ศ. 1949 ว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางการเงินเพื่อพัฒนาประเทศแก่ประเทศในพื้นที่ล้าหลังต่างๆของโลก

และประเทศไทยก็อาจอยู่ในหมู่ของประเทศเหล่านี้ที่จะได้รับส่วนแบ่งจากเงินจำนวน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ทางประเทศสหรัฐอเมริกาจะแบ่งสันปันส่วนให้แก่ประเทศในย่านประเทศจีน

นายเอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin Stanton)เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ได้ใช้เงินเพื่อซื้อจอมพล ป.และคณะนายทหาร

เพราะว่านอกจากประเทศไทยจะได้เงินจากโครงการ 4 อย่างจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ทางผู้นำไทยต้องการเงินกู้จากธนาคารโลกมาพัฒนาประเทศ

เมื่อได้คาดหวังว่าจะได้เงินจากหลายยอดและได้ผลประโยชน์หลายอย่างจากสหรัฐอเมริกาเช่นนี้แล้ว จอมพล ป. แม้แต่ในช่วงที่ยังไม่ถึงการรับรอง 3 รัฐบาลในอินโดจีน ก็ได้แสดงทีท่าว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์ 

โดยเมื่อเดือน มิถุนายน  ค.ศ. 1949 เขาได้ประกาศว่า ประเทศไทย ชื่นชอบในกติกาสัญญาความมั่นคงต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของกติกาสัญญาแอตแลนติก(นาโต้) ซึ่งจะรวมประชาชาติต่างๆจากเทือกเขาหิมาลัยจรดถึงทะเลจีนเข้าเป็นประเทศสมาชิก

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1949 จอมพล ป. ได้ตัดสินใจที่จะเลิกเป็นกลางในสงครามเย็นและต้องการลงจากรั้วโดดลงมาอยู่ทางประเทศสหรัฐอเมริกและประเทศสหราชอาณาจักร

ในเดือนนี้เอง จอมพล ป.ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวยูไนเต็ดเพรส(UP) ว่าประเทศไทยได้ตกลงใจที่จะยุติการรุกรานของคอมมิวนิสต์ในทุกรูปแบบและว่าในกรณีที่เกิดสงครามขึ้น ประเทศไทยจะต้อนรับความช่วยเหลือทางด้านอาวุธจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักรและกองทัพของทั้งสองประเทศนี้จะได้รับการต้อนรับอย่างฉันมิตร

สำหรับพวกผู้นำไทยที่ยึดถือนโยบายแบบให้รอไปก่อนนั้น ก็มีเหตุผลเป็นของตนเองเหมือนกัน กล่าวคือ

ประการที่ 1 พวกคนเหล่านี้ไม่ต้องการให้ประเทศไทยแสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใน 2 ค่ายที่แตกต่างทางด้านอุดมการณ์นี้

พวกนี้มีความเชื่อว่าคนไทยไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อใช้ต่อต้านจักรวรรดินิยมจีนคอมมิวนิสต์ได้ และดังนั้นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงเป็นการแกว่งเท้าหาเสี้ยนที่จะดำเนินนโยบายยั่วยุจีน คอมมิวนิสต์

พวกนักการเมืองไทยกลุ่มนี้มีความเห็นว่าประเทศไทยควรที่จะดำเนินนโยบายเป็นกลางเพราะมีความเชื่อว่าด้วยการใช้เวลาและความอดทนและใช้กลวิธีนำมหาอำนาจหนึ่งมาคานกับอีกมหาอำนาจหนึ่งอย่างที่เคยใช้มาในอดีตเพื่อดำรงเอกราชของประเทศไทยเอาไว้นี้ คนไทยก็จะสามารถตักตวงผลประโยชน์จากประเทศจีนคอมมิวนิสต์อย่างเช่นคนไทยเคยตักตวงผลประโยชน์จากประเทศอื่นๆมาแล้ว

ประการที่ 2  พวกนักชาตินิยมชาวไทยได้ต่อต้านการที่ประเทศไทยให้การรับรองแก่ 3 รัฐอินโดจีน พวกนี้เห็นว่าการให้การรับรองแก่รัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋เป็นสิ่งบอกเหตุว่าคนไทยให้การยอมรับในลัทธิล่าอาณานิคมได้ดำเนินอยู่ต่อไป ทั้งๆที่จักรพรรดิเบาได๋ไม่มีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะในประเทศเวียดนาม

ประการที่ 3  ผู้นำฝ่ายพลเรือนของไทยไม่อยากจะให้ประเทศไทยให้การรับรองแก่รัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋เพราะกลัวว่าจะเกิดความยุ่งยากกับผู้ลี้ภัยที่ต่อต้านฝรั่งเศสที่เข้ามาพำนักอยู่บนผืนแผ่นดินของประเทศไทยซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 7000 คนให้การสนับสนุนโฮจิมินห์ 

พวกนี้มีความเห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่ลำบากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักรในการให้การรับรองแก่รัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋

ประการที่ 4 ปัญหาเกี่ยวกับดินแดนที่ประเทศไทยสูญเสียให้แก่ฝรั่งเศสก็จะขัดขวางไม่ให้ประเทศไทยรับรองรัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่นำประเด็นปัญหานี้ขึ้นถามจอมพล ป. คือ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน

นายควงฯ ได้กล่าวว่าดินแดนที่ประเทศไทยสูญเสียไปจะไม่ได้กลับคืนมาหากประเทศให้การรับรองประเทศลาว ประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนามที่เป็นประเทศเอกราชในสหภาพฝรั่งเศส  

นายควงอธิบายต่อไปว่า หากประเทศไทยยังไม่รับรอง 3 รัฐบาลในอินโดจีน  การเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อขอดินแดนคืนอาจจะประสบความสำเร็จก็ได้

จอมพล ป.ตอบว่า ประเทศไทยไม่ต้องการดินแดนเหล่านี้กลับคืนมาอีกต่อไป และว่ายุทธวิธีเช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยเป็นจักรวรรดินิยม  ดินแดนที่สูญเสียไปนั้นควรจะได้เสียสละเพื่อเห็นแก่เอกราชของประเทศไทยที่ความปลอดภัยได้ถูกคุกคามจากคอมมิวนิสต์จีน

แม้แนวความคิดในทางคัดค้านการให้การรับรอง 3 รัฐบาลในอินโดจีนจะมีเหตุผลดีอย่างใด แต่ในที่สุดฝ่ายที่มีความเห็นต่อต้านการรับรองก็ต้องพ่ายแพ้

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 เมื่อมีการลงคะแนนเสียงในคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่าฝ่ายที่เห็นกับการให้การรับรองแก่ 3 รัฐบาลในอินโดจีนในทันทีมีชัยชนะต่อฝ่ายที่เห็นว่าให้รอไปก่อน

ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ ผู้แทนของ 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจได้ให้การสนับสนุนข้อเรียกร้องของจอมพล ป.ที่ควรให้การรับรองในทันทีและพวกนี้ได้ใช้วิธีบีบคณะรัฐมนตรีเพราะมีความเชื่อว่าการให้การรับรองในทันทีนี้จะอำนวยประโยชน์แก่ฝ่ายประเทศไทยให้ได้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศสหรัฐอเมริกา

ข้างจอมะพล ป.เองก็ไม่ต้องการเสียโอกาสทองเพราะสหรัฐอเมริกาได้ตั้งเงื่อนไขว่าหากสหรัฐอเมริกาให้การรับรองแก่ 3 ประเทศในอินโดจีนในทันทีประเทศไทยก็จะได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกา

ซึ่งจากรายงานของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบอกว่า สหรัฐอเมริกาจะปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศไทยเป็นมูลค่า 75, 000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหากรัฐบาลไทยให้การรับรองแก่ 3 รัฐบาลหุ่นเชิดของประเทศฝรั่งเศส

จากการประเมินผลประโยชน์ที่จะบังเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยทางด้านยุทธศาสตร์ในอินโดจีนและผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ประเทศไทยจะพึงได้รับจากการดำเนินนโยบาย ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยโดยการนำของจอมพล ป.จึงได้นำประเทศเข้าไปผูกพันกับมหาอำนาจตะวันตก

และนโยบายนี้ก็ได้ถูกดำเนินการสานต่อมาอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลไทยชุดต่างๆนับแต่ปี ค.ศ. 1950 จวบจนสิ้นสุดสงครามเย็นในทศวรรษปี 1990.

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผลกระทบของการปรองดองระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อขบวนการชาตินิยมอินโดจีน




กลุ่มชาตินิยมต่อต้านฝรั่งเศสในอินโดจีนที่เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สามารถได้ความเห็นอกเห็นใจจากฝ่ายประเทศไทยก็ต่อเมื่อประเทศไทยแลประเทศฝรั่งเศสยังเป็นศัตรูกันเท่านั้น เมื่อความปรองดองระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสเกิดขึ้น ก็ได้ส่งผลต่อกิจกรรมของพวกชาตินิยมในอินโดจีน

จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้คำสัญญากับอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาได้กลับมามีอำนาจอีกก็จะไม่ยอมให้ขบวนการชาตินิยมในอินโดจีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ทำกิจกรรมต่อต้านประเทศฝรั่งเศส

เขาได้ดำเนินนโยบายนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป คือเมื่อไม่กี่เดือนภายหลังจากที่ได้เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1947

สมาชิกของคณะรัฐประหารซึ่งมีความพยายามที่จะให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารและป้องกันไมให้พวกเสรีไทยได้ทำการรัฐประหารซ้อนได้ออกคำสั่งมีใจความว่าชาวต่างประเทศซึ่งมีอาวุธในครอบครองจะต้องส่งมอบอาวุธเหล่านั้นแก่ทางเจ้าหน้าที่ไทย

ซึ่งคำสั่งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงกลาโหมเรียกว่านโยบายใหม่ที่จะไม่ยอมให้ประเทศไทยถูกใช้ให้เป็นแหล่งสนับสนุนอาวุธให้แก่พวกคอมมิวนิสต์เพื่อทำลายชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหประชาชาติ

พวกนักชาตินิยมเวียดนามในกรุงเทพฯเป็นพวกแรกที่ประสบกับความลำบากจากนโยบายนี้โดยที่บ้านของพวกเขาถูกตรวจค้นและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เก็บสะสมไว้เพื่อนำไปใช้ในอินโดจีนถูกยึด

นักชาตินิยมชาวเวียดนามได้พยายามแจ้งกับเจ้าหน้าที่ทางทหารของไทยว่าพวกเขาจะไม่ใช้อาวุธเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อประเทศไทยแต่จะใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและปลดแอกของฝรั่งเศสเท่านั้น

และด้วยเหตุที่พวกเขาได้เคยช่วยประเทศไทยในการระดมชาวเวียดนามเข้ามาเป็นทหารในกองทัพไทยในระหว่างขัดแย้งระหว่างระเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1940-1941

พวกเขาจึงได้นำเรื่องนี้มาเตือนความจำของจอมพล ป. แต่จอมพล.ป ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้บอกปัดในเรื่องนี้โดยกล่าวว่าเขารับผิดชอบเฉพาะในเรื่องการทหารเท่านั้นแลจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เขาก็ได้รับข้อร้องเรียนของชาวเวียดนามและบอกว่าจะได้รายงานไปให้รัฐบาลเฉพาะกาลของนายควง อภัยวงศ์ได้ทราบต่อไป

แม้ว่านายควงฯจะมีความเห็นอกเห็นใจในแนวทางต่อสู้ของพวกนักชาตินิยมชาวอินโดจีนเพราะเขามีความหวังว่าเมื่อพวกนักชาตินิยมเหล่านี้เอาชนะด้วยสงครามกองโจรกับฝรั่งเศสได้แล้ว ประเทศไทยก็จะได้ดินแดนที่เสียไปในประเทศลาวและประเทศกัมพูชากลับคืนมาโดยอัตโนมัติ แต่นายควงฯก็ได้ถูกคัดค้านจากคณะนายทหารที่ทำการรัฐประหารซึ่งยืนยันว่าต้องการให้ความรวมมือกับฝ่ายฝรั่งเศส

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว การคงอยู่ในดินแดนของประเทศไทยของพวกชาตินิยมชาวอินจีนก็ยังเป็นภัยคุกคามต่อสถานะทางการเมืองของคณะรัฐประหาร

ทั้งนี้ก็เพราะความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มชาตินิยมอินโดจีนกับกลุ่มเสรีไทยในระหว่างสงครามและในช่วงหลังสงครามก็เป็นเรื่องที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่คณะรัฐประหาร

ยกตัวอย่างเช่น ได้มีข่าวลือว่า ดร.เหงียน ดึก กี ประธานคณะผู้แทนเวียดนามประจำประเทศไทยจะให้ความรวมมือกับนายปรีดี พนมยงค์และคณะเสรีไทยที่พยายามกลับคืนสู่อำนาจ 

ซึ่งข่าวลือเหล่านี้ก็น่าจะถูกสร้างขึ้นมาโดยชาวฝรั่งเศสเพื่อจะแยกขบวนการเวียดมินห์จากรัฐบาลไทย แต่ทางดร.เหงียน ดึก กี ได้ปฏิเสธข่าวลือนี้ว่าไม่เป็นความจริง ที่บอกว่ามีความร่วมมือกันระหว่างพวกนักชาติยมเวียดนามกับคณะเสรีไทย และเขาได้ให้คำสัญญาว่าชุมชนเวียดนามในประเทศไทยจะไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศไทย

เมื่อคณะรัฐประหารมองเห็นอันตรายจากการร่วมมือกันระหว่างนักชาตินิยมเวียดนามกับคณะเสรีไทยเช่นนี้ก็ยิ่งมีเหตุผลที่จะแยกตนเองออกจากพวกนักชาตินิยมชาวเวียดนามมากขึ้น

 เจ้าหน้าที่ของไทยจึงไม่มีท่าทีเมินเฉยต่อชาวเวียดนามที่กระทำกิจกรรมต่อต้านชาวฝรั่งเศสอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการตำรวจได้จับตาดูพฤติกรรมของชาวเวียดนามและผู้ลี้ภัยอื่นๆที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างไม่วางตา 

นอกจากนั้นแล้วทางคณะรัฐประหารก็ยังให้ความสนใจในโครงการต่างๆของเสรีไทยและนักชาตินิยมชาวเวียดนาม เช่น  สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(South-East Asia League) ซึ่งมีขอบข่ายที่กว้างใหญ่และมีส่วนกระทบต่ออนาคตของประเทศไทย

การที่มีนายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นเกนนำของคณะเสรีไทยและเป็นประธานของสันนิบาตฯด้วยนั้น คณะรัฐประหารก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำลายสันนิบาตที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ได้

นายปรีดี พนมยงค์และสมาชิกเสรีไทยอื่นๆถูกกล่าวหาว่านำประเทศไทยให้เข้าไปอยู่ในสันนิบาตฯที่ถูกครอบงำโดยคอมมิวนิสต์

เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 นายเตียง ศิริขันธ์และสมาชิกของเสรีไทยคนอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในภาคเหนือได้ถูกจับในข้อหาแบ่งแยกดินแดน

 บ้านของสมาชิกของคณะเสรีไทย เช่นบ้านของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และบ้านของนายทอง กันทาธรรม ได้ถูกตรวจค้นและยึดอาวุธที่จะส่งมอบแก่พวกชาตินิยมอินโดจีน

แม้ว่าจอมพล ป.จะได้ให้ความร่วมมือกับฝรั่งเศสอย่างจำกัดแต่ฝรั่งเศสต้องการมาตรการความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้นจากรัฐบาลไทย

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1948 คณะผู้แทนทหารของไทยได้รับเชิญให้ไปเยือนอินโดจีน นำโดยพลโทกาจ กาจสงคราม ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่หัวรุนแรงในความรู้สึกต่อต้านฝรั่งเศส

 ในการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการบอกว่า วัตถุประสงค์ของคณะผู้แทนที่เดินทางไปอินโดจีนในครั้งนี้ คือ 1.เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศทั้งสอง 2. เพื่อความร่วมมือกันในการปราบปรามการการลักขโมยและการโจรกรรมในพื้นที่ทางพรมแดน และ 3. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามพรมแดนเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

จึง ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ทางฝรั่งเศสตั้งความหวังไว้ว่าผลของการเยือนของนายนายทหารคณะนี้จะทำให้ประเทศไทยให้ความร่วมมือในการปราบปรามกิจกรรมของพวกชาวชาวเวียดนามและพวกชาตินิยมอินโดจีนอื่นๆในประเทศไทย

ในฝ่ายของผู้กำหนดนโยบายของไทยนั้น ความกลัวคอมมิวนิสต์จีนที่มีเพิ่มมากขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1948  ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลไทยส่งคณะผู้แทนคณะนี้ไปยังนครไซง่อน

ทั้งนี้เพราะผู้กำหนดนโยบายของไทยมีความกลัวว่าประเทศจีนทั้งประเทศจะตกเป็นของคอมมิวนิสต์และประเทศไทยจะถูกคุกคามจากคอมมิวนิสต์ภายนอกประเทศและคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ผู้กำหนดนโยบายของไทยจึงต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับอินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งผู้กำหนดนโยบายของไทยถือว่าจะเป็นรัฐกันชนให้แก่ประเทศไทยได้

ในระหว่างที่พำนักอยู่ในอินโดจีนนั้น คณะนายทหารซึ่งนำโดยพลโทกาจฯได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสรวมทั้งผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส

ทางฝรั่งเศสได้พาคณะนายทหารไทยไปเยี่ยมชมฐานทัพเรือ ฐานทัพบก และฐานทัพอากาศของฝรั่งเศส ตลอดจนการแสดงต่างๆของทหารมีการโดดร่มเป็นต้น มีการจัดงานเลี้ยงรับรองแก่คณะนายทหารไทยอย่างหรูหราและมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มชั้นดีอย่างเช่นแชมเปญเป็นต้นด้วย

 มีการเจรจากันระหว่างคณะทหารไทยกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสในความร่วมมือกันทางพรมแดนเพื่อป้องกันกลุ่มต่อต้านจากอินโดจีนไม่ให้ข้ามพรมแดนเข้ามาพักพิงอยู่ในดินแดนของประเทศไทยเมื่อถูกทหารฝรั่งเศสไล่ติดตาม 

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการเจรจากันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั่วไปของโลกถึงความเป็นไปได้ที่จะหามาตรการต่อต้านการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พลโทกาจฯเมื่อได้รับการร้องขอจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสให้ร่วมมือในการปราบปราบนักชาตินิยมชาวเวียดนาม ชาวลาวและชาวกัมพูชาก็ได้ตอบว่าทางประเทศไทยจะให้ความร่วมมือกับฝรั่งเศสในการปราบปรามผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนเฉพาะที่ละเมิดกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ในกรณีที่เป็นพวกที่ต่อสู่เพื่อเอกราชเพื่อปลดแอกจากประเทศประเทศล่าอาณานิคมทางประเทศไทยคงจะไม่เข้าไปแทรกแซงและปราบปราม

คำตอบที่กำกวมของพลโทกาจฯที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสไม่ใช่นโยบายที่แท้จริงของจอมพล ป.  ทั้งนี้เพราะจอมพล ป.ต้องการให้ประเทศไทยร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส

เมื่อต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1948  หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสแสดงความปรารถนาของประเทศไทยที่จะมีความสัมพันธ์ฉันมิตรทางการเมืองและการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีกับประเทศฝรั่งเศส

นับแต่นั้นมา จอมพล ป.ก็ได้นำนโยบายที่ประกาศผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้จอมพล ป.ได้ประกาศท่าทีที่เป็นศัตรูกับนักชาตินิยมชาวอินโดจีน

เขาได้กล่าวหาว่าคนเหล่านี้มาใช้ดินแดนไทยเป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านอำนาจอาณานิคมของฝรั่งเศสตามพรมแดนของสองประเทศ

และได้ประกาศว่าเขาจะไม่อดทนที่จะให้คนเหล่านี้พำนักอยู่ในประเทศไทยเพราะเป็นพวกเขาที่เข้ามาแย่งงานของคนไทยทำตามพรมแดน

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1948 รัฐบาลของจอมพล ป.ได้เริ่มมาตรการแรกในการบีบบังคับกลุ่มต่อต้านอินโดจีนโดยวิธีเก็บเงินค่าเข้าเมืองหัวละ 200 บาท 

ในขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ทางพรมแดนว่าให้ชักชวนผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนได้เดินทางกลับไปยังอินโดจีนได้แล้วเนื่องจากเงื่อนไขของสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนามที่ทำให้พวกเขาต้องหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยภายหลังสงครามแปซิฟิกได้สิ้นสุดลงแล้ว

ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1949  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของฝรั่งเศสได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างพวกชาตินิยมจากอินโดจีนตามพรมแดนประเทศไทยกับอินโดจีน

ทางประเทศไทยก็ได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายฝรั่งเศสโดยแจ้งไปทางเจ้าหน้าที่จังหวัดต่างๆที่อยู่ทางพรมแดนประเทศไทยกับอินโดจีนว่าให้ผลักดันอย่าให้พวกชาตินิยมเข้ามาใช้ดินแดนประเทศไทยต่อต้านการปฏิบัติการของทหารฝรั่งเศส

นอกจากนั้นทางรัฐบาลไทยได้ประกาศคำสั่งว่า พวกผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้มีกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ ส่วนพวกที่ต่อต้านฝรั่งเศสที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยจะถูกขับให้ออกไปอยู่ในอินโดจีน

จากผลของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสในการต่อต้านนักชาตินิยมชาวเวียดนามนี้เอง ทำให้รัฐบาลเวียดนามในกรุงฮานอยได้ประกาศเป็นครั้งแรกว่าทางประเทศเวียดนามมีความสนใจที่จะมีความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์จีน

ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามได้ประกาศทางวิทยุอย่างเป็นทางการว่าเวียดนามจะได้ผลประโยชน์สำคัญในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากชัยชนะของประชาชนจีน และคำประกาศนี้ได้ตามมาด้วยรายงานว่าประธานาธิบดีโฮจิมินห์ได้บรรลุข้อตกลงลับกับเหม๋าเจ๋อตง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝ่ายไทยจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายฝรั่งเศสตามพรมแดนแต่ฝ่ายไทยแต่ก็ยังได้อนุญาตให้องค์การทางการเมืองของเวียดมินห์อยู่ในประเทศไทยต่อไป องค์การทางการเมืองเหล่านี้ ได้แก่ ผู้แทนรัฐบาลเวียดนาม สำนักบริการข่าวสารเวียดนาม  สมาคมบรรเทาทุกข์เวียดนาม และคณะกรรมการซื้ออาวุธเวียดนาม 

ท่าทีอยากจะเป็นกลางคือนั่งอยู่บนรั้วของฝ่ายไทยเพื่อดูว่าฝ่ายไหนจะชนะระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับชาวเวียดนามได้สิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 เมื่อรัฐบาลไทยของจอมพล ป. ได้ให้การรับรองแก่รัฐบาลลาว รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลกัมพูชาที่เป็นหุ่นเชิดของประเทศฝรั่งเศส

พวกเขมรอิสระก็ได้ประสบกับความเดือดร้อนจากการขึ้นสู่อำนาจของจอมพล ป. การรัฐประหารในปี ค.ศ. 1747 ได้ทำลายขบวนการเขมรอิสระในประเทศไทย

พวกเขมรอิสระต้องทิ้งค่ายฝึกทางทหารที่ตั้งอยู่ในพรมแดนไทยและพวกที่ได้รับการฝึกทางด้านการทหารมาแล้วต่างกระจัดระจายอยู่ตามพรมแดนประเทศไทย-ประเทศกัมพูชา

ทางทหารไทยได้ทำการกวาดล้างพวกเขมรอิสระ ตลอดจนองค์การการทางการเมืองของพวกเขา คือ หน่วยโฆษณาชวนเชื่อ หน่วยซื้ออาวุธ และหน่วยหารายได้ ซึ่งหน่วยเหล่านี้ต้องดำเนินการในทางลับได้เท่านั้น 

หลังจากที่จอมพล ป.เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีนายฮุล วงศ์อานุภาพ นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกัมพูชาอิสระได้ถูกจับในข้อหาขายรถไฟอย่างผิดกฎหมาย

 ในขณะเดียวกันการเจรจาระหว่างฝ่ายฝรั่งเศสกับฝ่ายเขมรอิสระได้ดำเนินไปโดยมีวัตถุประสงค์ให้พวกที่อยู่ในกรุงเทพฯเดินทางกลับไปยังกัมพูชา 

เขมรอิสระบางคนได้เดินทางกลับกัมพูชาในขณะที่บางคนได้หันไปขอรับการสนับสนุนจากเวียตมินห์แม้ว่าพวกกัมพูชาจะถือว่าพวกเวียดนามจะเป็นศัตรูของพวกตนมาอย่างชนิดที่ไม่เผาผีกันในอดีตที่ยาวนานก็ตาม

 แม้แต่พระพิเศษพานิช(หรือปก คุณ) ผู้ก่อตั้งเขมรอิสระในปี ค.ศ. 1940 ก็มีรายงานว่าได้เข้าร่วมกับเวียดมินห์และคอมมิวนิสต์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1949

พระพิเศษพานิชได้ประกาศว่า ผลของสงครามกลางเมืองของชาวจีนเป็นปัญหาสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากพวกคอมมิวนิสต์จีนเสนออาวุธให้แก่พวกเราเพื่อขับไล่ฝรั่งเศสพวกเราก็จะยอมรับอาวุธเหล่านั้นแม้ว่ามันจะหมายถึงพากเราต้องกลายเป็นแดงก็ตาม

จอมพล ป. ได้แสดงความไม่เป็นมิตรเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อพวกเสรีลาวอีกเช่นเดียวกัน  และพวกเสรีลาวต่างก็ตระหนักถึงท่าทีนิยมตะวันตกและต่อต้านคอมมิวนิสต์ของจอมพล ป.

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1948 รัฐบาลเฉพาะกาลของลาวอิสระในกรุงเทพฯได้ประกาศแถงการณ์ 4 ข้อ มีความว่าลาวอิสระเป็นพวกประเพณีนิยม นิยมเจ้าและนับถือพระพุทธศาสนาและรัฐบาลลาวอิสระเป็นรัฐบาลชาตินิยมอย่างแท้จริง  ลาวอิสระจะไม่มีวันเป็นคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นวันนี้หรือในวันข้างหน้า

ถึงแม้ว่าจอมพล ป.จะพึงพอใจกับแถลงการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของลาวอิสระดังกล่าว แต่จอมพล ป.ก็ไม่สามารถจะคบกับผู้นำของอิสระต่อไปได้

ทั้งนี้ก็เพราะในหมู่ลาวอิสระนั้น ท้าวอุ่น ชนะนิกร ได้ทำงานอยู่กับนายจิม ทอมป์สัน ในธุรกิจไหมไทย เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับพวกหน่วยโอเอสเอส (Office of  Strategic Services)ของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมีความใกล้ชิดและทำงานร่วมกับคณะเสรีไทยระว่างสงคราม

ความไม่ชอบหน้าท้าวอุ่น ชนะนิกรของจอมพล ป.เพิ่มมากขึ้นภายหลังการก่อกบฏวังหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 ซึ่งกบฏครั้งนี้เป็นฝีมือของนายปรีดี พนมยงค์และคณะเสรีไทยโดยมีวัตถุประสงค์จะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ท้าวอุ่นเป็นผู้ใกล้ชิดและทำงานทำงานร่วมกับเสรีไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นที่หวาดระแวงของจอมพล ป. และจอมพล ป.จึงได้ตัดสินใจออกคำสั่งให้ทหารเสรีลาวอออกไปจากประเทศไทยเพื่อจะแยกพวกเขาออกจากพวกเสรีไทย พวกทหารเสรีลาวจึงได้ข้ามแม่น้ำโขงกลับคืนสู่ประเทศลาว ในขณะที่รัฐบาลเฉพาะกาลลาวอิสระยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ

กระดูกสันหลังของขบวนการลาวอิสระในประเทศไทยได้หักสะบั้นลงเมื่อลาวได้ลงนามในสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1949 ตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของลาวโดยมีเจ้าสุวรรณภูมา(น้องชายต่างมารดาของเจ้าเพชรราช) เป็นนายกรัฐมนตรี

พระยาคำเม้า วิไล ท้าวกระต่าย โดน สโสฤทธิ์ และเจ้าสุวรรณภูมาได้ประกาศว่าพวกตนพึงพอใจที่ลาวได้เอกราชอย่างแท้จริงและดังนั้นจึงได้ประกาศยุบรัฐบาลลาวอิสระเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1949 

ได้มีการดำเนินการขอเดินทางกลับลาวของพวกลาวอิสระโดยมีมเหสีของเจ้าสุวรรณภูมาที่เป็นชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับรัฐบาลฝรั่งเศส

ทางประเทศฝรั่งเศสได้ตกลงตามคำขอและได้ดำเนินการจัดหาพาหนะต่างๆพร้อมกับมอบเงินทุนให้แก่ผู้นำลาวอิสระได้เดินทางกลับประเทศลาวในเดือนพฤศจิกายน

 แต่ทว่าในจำนวนผู้นำลาวอิสระเหล่านี้ เจ้าเพชรราชและเจ้าสุภานุวงศ์ไม่ยอมเดินทางกลับประเทศลาว โดยเจ้าเพชรราชได้อยู่ในกรุงเทพฯต่อไปพร้อมด้วยมเหสีที่เป็นหญิงไทยชิ่อหม่อมอภินพร

ส่วนเจ้าสุภานุวงศ์ในช่วงสองสามเดือนก่อนที่พวกผู้นำลาวอิสระจะเดินทางกลับประเทศลาว ได้ประกาศแนวทางที่แตกต่างจากแนวทางของพี่ชายทั้งสองคน และได้นำคณะเข้าไปทางประเทศลาวทางตะวันออกและได้ร่วมมือกับพวกเวียดมินห์

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับขบวนการชาตินิยมฝรั่งเศสมีความเย็นชาต่อกันแต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสมีแต่ดีวันดีคืน

นับตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1949 เป็นต้นไป ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศยกสถานะความสัมพันธ์ทางการทูตจากระดับอัครราชทูตเป็นระดับเอกอัครรราชทูตในกรุงเทพฯและในกรุงปารีส 

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯจึงเป็นสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในอันดับที่ 4 ต่อจากสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร  สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา  และสถานเออัครราชทูตจีน ตามลำดับ

ความรู้สึกนิยมตะวันตกของฝ่ายกำหนดนโยบายของไทยในสมัยจอมพล ป.ได้ถึงจุดสูงสุดเมื่อประเทศไทยได้ให้การรับรองรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลลาว และรัฐบาลกัมพูชาที่เป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลฝรั่งเศส.